๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๙
ผู้ชมโปรดอ่าน : หนังสือพระเครื่องประชุม กาญจนวัฒน์ (ตอน ๒)
ที่มา : หนังสือ ภาพพระเครื่อง เล่ม ๑ พิมพ์ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๓๕
ประชุม กาญจนวัฒน์พูดถึง “ทำอย่างไรจึงจะดูพระเป็น”
หน้า ง ถึง จ
………………………………………………
ทำอย่างไรจึงจะดูพระเป็น
นี่เป็นอีกปัญหาหนึ่งซึ่งเราจะได้ยินได้ฟังอยู่ในวงการพระเสมอ อันที่จริงแล้ว ก็น่าเห็นใจเอามาก ๆ ทีเดียวสำหรับผู้ประสบปัญหานี้ และคำถามเช่นนี้ก็มักจะเกิดขึ้นกับบุคคล ๒ ประเภทเท่านั้น เช่น…
บุคคลประเภทแรกจะได้กับ “นักเลงพระผู้ทรงเกียรติ” มีเงิน ไม่ถือกาลเวลาเป็นชั่วโมงบินของการศึกษา ชอบเล่นด้วยหูอย่างเดียว คอยฟังเสียงนกเสียงกาเป็นลูกหนุน ไม่ได้ใช้ภูมิปัญญาของตัวเองเลย ผลสุดท้ายก็ต้องยอมรับว่า “ดูพระไม่เป็น” และคำถามต่อมาก็คือ “ทำอย่างไรจึงจะดูพระเป็น” นั่นแหละครับ
บุคคลประเภทที่สองได้กับผู้กำลังสนใจที่เพิ่งจะริเริ่มเป็นนักเลงพระ มีชั่วโมงบินน้อย แต่ก็ใจเร็วด่วนได้ เห็นพระอะไร ๆ ก็มักจะดูเป็นของแท้ไปหมด ภายหลังพอรู้ว่า ”เล่นพระผิดทางเสียแล้ว” จึงคิดจะสู้กับเขาใหม่ “แต่ทำอย่างไรจึงจะดูพระเป็น”
จากบุคคลสองประเภทนี้ต่างก็ตกอยู่ในปัญหาเดียวกัน ถ้าเกิดกับท่านผู้ใดแล้วยังคิดที่จะเดินต่อไปอีก ก็มีแต่ทางหายนะในที่สุด แต่ที่หันหลังกลับได้ทันท่วงทีและคิดจะเลิกนั้น ผมขอสนับสนุนเต็มที่เพราะการเป็นนักเลงพระขณะนี้มีแต่อันตรายรอบด้านทีเดียว สำหรับท่านที่ยังกล้าที่จะเผชิญกับความจริงต่อไปอีกนั้น ผมก็เชื่อมั่นในประสบการณ์ที่ผมได้ผ่านมาเกือบ ๒๐ ปีแล้ว อาจนำมาเป็นข้อมูลแนะนำให้ท่านที่จะเดินทางเข้าสู่วงการพระได้โดยถูกต้องต่อไปไม่มากก็น้อยดังนี้คือ…
จงเริ่มต้นศึกษาความเก่าของเนื้อก่อน (เช่าพระกรุถูก ๆ มาเปรียบเทียบ) แล้วจากนั้นพยายามศึกษาและจำ “พิมพ์” ของพระเครื่องแต่ละเนื้อหรือแต่ละกรุไว้ให้แม่น (ขณะนี้เรื่องพิมพ์ต่างก็ทำปลอมกันได้แนบเนียนมาก แต่ก็ต้องเรียนรู้ไว้ เมื่อเข้าใจเรื่องพิมพ์ได้ดีแล้ว ต่อไปก็ให้หันมาศึกษาเรื่องศิลป (เป็นข้อได้เปรียบที่เราจะทราบถึงอายุและสมัย) ของแต่ละสมัยต่อไป และด่านสุดท้ายของการที่จะเป็นนักเลงพระได้อย่างเต็มตัวก็คือ จะต้องชี้ขาดได้ว่าพระเครื่ององค์ใดซ่อมเสริมเติมแต่ง หรือองค์ไหนเป็นของแท้ องค์ไหนเป็นของปลอม เมื่อใดท่านสามารถชี้ขาดลงไปได้ดังกล่าวแล้ว ก็เมื่อนั้นแหละครับ ท่านก็จะสามารถเป็น “นักเลงพระ” ได้อย่าง ๑๐๐ % เต็มที่ทีเดียว และนี่แหละครับคือคำตอบที่ผมได้คลี่คลายมาจากคำถามที่ว่า “ทำอย่างไรจึงจะดูพระเป็น”
……………………………………………….
ความเห็นของ วิภัชวาที สำหรับบทความ
ประชุม กาญจนวัฒน์พูดถึง “ทำอย่างไรจึงจะดูพระเป็น”
บทความนี้ ประชุม กาญจนวัฒน์ เขียนไว้ ๒๕ ปีแล้ว แต่ยังทันสมัย นำมาใช้ได้สำหรับยุคปัจจุบัน
คำถามที่ว่า “ทำอย่างไรจึงจะดูพระเป็น” ยังอยู่คู่วงการพระเครื่อง โดยเฉพาะพระสมเด็จที่สร้างโดยสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ในยุคนั้น พระแท้หาง่ายกว่ายุคนี้อย่างน้อย ๑๐ เท่า ดังนั้นความยากที่จะดูพระสมเด็จเป็นจึงยากขึ้นอย่างน้อย ๑๐ เท่าเช่นกัน
บุคคลพวกแรกที่อาจารย์ประชุมเอ่ยถึงคือ “พวกมีเงิน” พวกนี้ไม่มีชั่วโมงบินหรือเวลาศึกษา น่าจะมีมากกว่าสมัยนั้น เพราะการโฆษณาชวนเชื่อของคนขายพระรุนแรงและมีทุกรูปแบบ เหยื่อที่เป็น “พวกมีเงิน” จึงมีมากขึ้น เพราะเชื่อในชื่อเสียงหรือ แบรนด์ว่ามีแต่พระแท้ ทั้งที่ความขำนายในพระบางประเภทมีไม่เท่าไหร่
กลุ่มนี้รวมถึงนักเล่นพระประเภทสาวกใบประกันกับใบประกาศ ถ้าไม่มีไม่ซื้อ พฤติกรรมเช่นนี้ได้สร้างอาชีพใหม่ให้กับคนขายพระ นอกจากจะ “รับดูพระ” ยัง “รับออกใบเซอร์” หรือใบรับรองประกันความแท้ซึ่งมีแต่คำพูดไม่มีความรับผิดชอบ เป็นวิธีทำเงินอีกอย่างหนึ่งที่อาศัยหน้าตากับความเชื่อถือก็หาเงินได้โดยไม่ต้องมีพระหรือขายพระแม้แต่องค์เดียว
บุคคลกลุ่มที่สองคือ “พวกมีเวลา” หมั่นศึกษา มีชั่วโมงบิน พวกนี้มีความตั้งใจ แต่ไปผิดทาง หลงเชื่อในตัวบุคคล หมู่คณะ ที่ออกสื่อต่าง ๆ ว่ามีความรู้รวมทั้งจัดการอบรม การสอน ถ่ายทอดความรู้ที่ตัวมี ยินดีใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งเวลาและเงินในการเรียนรู้สิ่งที่ผิด
ปัจจุบันมีสื่อหลากหลายประเภท มากมายกว่าสมัยอาจารย์ประชุมหลายเท่า โดยเฉพาะสื่อทางอินเตอร์เน็ต มีทั้งเว็บไซต์ เฟวบุ๊ก ยูทูป ไลน์ กูเกิ้ล ให้ความรู้สารพัดเกี่ยวกับพระสมเด็จ
แต่สื่อไหนเล่าที่ให้ความรู้ที่แท้จริง ไม่เคลือบแฝง ไม่หลอกลวงให้เห็นผิด บุคคลกลุ่มนี้ยากที่จะแยกแยะได้ ดังนั้นส่วนใหญ่จึงตกเป็นเหยื่อการโฆษณาชวนเชื่อ หรือการให้ความรู้อย่างผิด ๆ
น่าเสียดาย เพราะกลุ่มนี้มีความตั้งใจที่จะเรียนรู้ แต่รู้ผิดทาง
คำตอบของคำถาม “ทำอย่างไรจึงจะดูพระเป็น”
สำหรับเรื่องพระสมเด็จ ผู้เขียนเห็นด้วยกับหลักการที่อาจารย์ประชุมแนะนำไว้ดังนี้
- ศึกษาความเก่าใหม่ของเนื้อ
- ศึกษาและจำพิมพ์
- ศึกษาเรื่องศิลปะ
สมัยนั้นพิมพ์ยังทำปลอมได้ใกล้เคียง สมัยก่อนทำพระปลอมต้องใช้การถอดพิมพ์กับแกะพิมพ์ใหม่ให้ใกล้เคียง สมัยนี้มีเทคโนโลยีเข้าช่วยทั้งการสร้างแม่พิมพ์แบบดิจิตอล หรือสร้างพระคู่แฝดจากองค์จริงโดยใช้เครื่องพิมพ์แบบสามมิติที่ทำได้เหมือนองค์จริง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์
ฉะนั้นที่สอนต่อ ๆ กันมาว่า “ดูพิมพ์ก่อน ผิดพิมพ์ไม่ต้องดูต่อ” ใช้ไม่ได้แล้ว แต่คำแนะนำจากอาจารย์ประชุมเมื่อ ๒๕ ปีก่อน ยังใช้ได้อยู่
“ดูเนื้อ ดูพิมพ์ ดูศิลปะ” คือหนทางไปสู่ การดูพระสมเด็จให้เป็น
………………………………….. จบตอน ๒